เป็นอีกครั้งที่ “นักเรียนไทย” ไปแสดงฝีไม้ลายมือ ให้ต่างชาติได้ประจักษ์ และก็ “ชนะใจ” ฝรั่ง
หอบรางวัลกลับมาได้อีกครั้ง ครั้งนี้เป็นคิวของ “วรภัทร บุญญฤทธิพงษ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

“วรภัทร” ได้รับรางวัลจากการแข่งขันเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบเปิดของ “กูเกิล”
หรือ GHOP (Google Highly Open Participation) โดยชนะเลิศประเภทระบบบริหารจัดการหลักสูตรของ Moodle

Moodle ถือเป็นซอฟต์แวร์ระบบจัดการหลักสูตร (CMS – Course Management System) แบบโอเพ่นซอร์ส ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้พัฒนาการศึกษาใช้สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้
“รู้สึกทึ่งเพราะเขาสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานเขามีอินโนเวทีฟอยู่ตลอดเวลา พนักงานที่กูเกิลทุกคนก็ดูมีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้ม หัวเราะ คือ ดูแล้ว เขามีความสุขกันมากเลย”

ท่องสำนักงานกูเกิล

“ช่วงแรกไม่ค่อยสนใจเรื่องโอเพ่นซอร์ส แต่มีอาจารย์ในค่ายคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมาชวนว่า เออมีโครงการนี้ใครสนใจก็ลองมาสมัครดู และบังเอิญว่ามีเพื่อนสมัครในโครงการก็มาชวน ผมก็…เออลองดู ก็พยายามทำไปเรื่อยๆ พอได้ทำก็รู้สึกว่าเริ่มอยากชนะขึ้นมา”

ด้วยวิชาความรู้ที่ติดตัวอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการเขียนโปรแกรมที่เป็นความชอบโดยส่วนตัว ทั้งยังเรียนอยู่ในสายวิทย์-คณิต ทำให้รางวัลชนะเลิศครั้งนี้ ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

นอกจาก “ความเก่ง” ที่ได้รับเสียงปรบมือแล้ว “วรภัทร” ยังได้โบนัสก้อนโตด้วยการได้สิทธิไปเยี่ยมเยือนบริษัทกูเกิล ที่เมาท์เท่นวิว สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมของโลกด้วย

“สถานที่กว้างมาก มีคนนำทัวร์ ซึ่งตึกที่อยู่ในบริเวณสำนักงานจะไม่เกิน 3 ชั้น ก็ตื่นเต้น และก็ได้เห็นวัฒนธรรมในการทำงานบางอย่างที่ผมรู้สึกว่า เออ…เขาทำได้ไง”

วรภัทร ยกตัวอย่างว่า ทุกสถานที่ในกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นประตู หรือฝาผนังจะมีแผ่นป้ายติดปัญหาต่างๆ เอาไว้ แล้วให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา พร้อมทั้งมีไวท์บอร์ดขนาดใหญ่ติดอยู่ ให้พนักงานหรือผู้บริหารมาเขียนปัญหาไว้ และจะมีคนที่รู้ปัญหามาเขียนต่อ

แบ่งเวลาใช้เทคฯ

วรภัทร เล่าว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมแข่งกับโครงการนี้ เสิร์ชเอ็นจินเหมือนเป็นเข็มทิศนำทางเข้าไปยังโลกของอินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก แต่มีความรู้สึกว่าคนไทย รวมถึงวัยรุ่นไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเสิร์ชเอ็นจินได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร

“ผมว่าจริงๆ แล้ว การใช้เทคโนโลยีของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ถือว่าดี แต่บางเทคโนโลยีเขาใช้เวลากับมันมากเกินไปอย่างพวกเล่นเกม หรือแชท ซึ่งบางทีมันอาจทำให้เสียเวลา เกิดปัญหา จริงๆ ผมเองก็เล่นหมดทุกอย่าง แต่ก็สามารถแบ่งเวลาได้ ก็อยากให้พวกเขาลองใช้เทคโนโลยี หรืออินเทอร์เน็ตในการสำรวจคอนเทนท์ในนี้ให้มากขึ้น เพราะยังมีคอนเทนท์ดีๆ อีกมาก”

สำหรับโครงการนี้ ต่อเนื่องความสำเร็จมาจากโครงการ “Google Summer of Code” ที่ได้ทำโครงการนำร่อง “GHOP Contest” ขึ้นเป็นการแนะนำเด็กนักเรียนในระดับมัธยม ทั้งมัธยมต้น และมัธยมปลาย ให้กับกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบเปิดได้ลองนำเสนอผลงาน และมีส่วนร่วมในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้ได้มากที่สุด

“วรภัทร” บอกด้วยว่า เขาได้ยึดเอาสองผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลอย่างแลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน เป็นบุคคลตัวอย่างมาโดยตลอด เพราะทึ่งในความสามารถ และวิธีการคิด

ขณะที่ “วรภัทร” หนุ่มน้อยจากสวนกุหลาบคนนี้ ก็ไม่ใช่หน้าใหม่ที่เพิ่งได้รับรางวัลในด้านไอทีเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยได้รางวัลในการพัฒนาเวบไซต์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นหนึ่งในนักเรียนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมแคมป์สำหรับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกด้วย

การแข่งขัน GHOP นั้นได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่ดูแลเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบเปิด (Open Source Organizations) จำนวน 10 แห่งด้วยกัน ได้แก่ Apache Foundation, Drupal, GNOME, Joomla!, MoinMoin, Mono, Moodle, Plone, Python Software Foundation และ SilverStripe

โดยองค์กรแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดลักษณะงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันได้ปฏิบัติตาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานที่แต่ละโครงการโอเพนซอร์สต้องการความช่วยเหลือ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหา เขียนเอกสารอธิบายการใช้งาน ไปจนถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ เป็นต้น

นักเรียนผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนสามารถเลือกมีส่วนร่วมกับโครงการโอเพนซอร์สได้ตามถนัด และเลือกลักษณะงานที่ต้องการได้ตามรายการที่กำหนดไว้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะได้มีส่วนร่วมในชุมชนโอเพนซอร์ส โดยได้เข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น ส่วนทางด้านองค์กรที่รับผิดชอบซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแต่ละแห่งก็จะได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของผู้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการนี้ด้วย

การแข่งขันครั้งนี้มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการราว 400 คน พร้อมที่ปรึกษาอีกกว่า 100 คน จากทั่วโลก ที่มาร่วมปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายงานจำนวนเกือบ 1,000 รายการ เพื่อการปรับปรุงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงโค้ดโปรแกรม การปรับปรุงเอกสารและสื่อสำหรับการอบรบ รวมไปถึงการวิจัยด้านประสบการณ์ของผู้ใช้ ให้แก่องค์กรโอเพนซอร์สที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 แห่ง

โครงการ Moodle เลือกให้ วรภัทร เป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันประเภทนี้ ด้วยผลงานที่โดดเด่นและก้าวข้ามงานท้าทายหลายด้าน เช่น การสร้างสคริปต์ Selenium สร้างคำแนะนำสำหรับนักพัฒนาเพื่ออัพเกรดไปสู่ XMLDB และพัฒนาชุดซ่อมแซมสำหรับปรับปรุงสมรรถนะการทำงานของ Moodle

งานหลายอย่างทำให้ วรภัทร ต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจในโค้ดที่ซับซ้อนเป็นระยะเวลานาน แต่เขาก็สามารถบรรลุงานทุกชิ้นได้อย่างมีคุณภาพและทันตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ เขายังมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนออนไลน์ Moodle ภาษาไทยด้วยการปรับปรุงชุดภาษาไทยและสร้างพรีเซนเทชันของ Moodle ที่เป็นภาษาไทยด้วย

“การแข่งขัน GHOP เป็นโครงการทดลองของกูเกิลที่ต้องการสนับสนุนชุมชนโอเพนซอร์ส พร้อมกับกระตุ้นให้นักเรียนระดับมัธยมได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ ทั้งนี้ กูเกิลหวังและคาดว่า การแข่งขันดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้กับเยาวชนในการก้าวไปสู่เส้นทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างประสบความสำเร็จภายในอีกไม่กี่ปี”

เลสลี ฮอว์ธอร์น ผู้จัดการฝ่ายโครงการโอเพ่นซอร์ส GHOP กูเกิล อิงก์ เล่า พร้อมบอกว่า
“เราขอแสดงความยินดีกับ วรภัทร สำหรับการได้รับรางวัลในครั้งนี้ ในฐานะนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากกูเกิล เราเชื่อว่า ผู้ปกครองและทางโรงเรียนของ วรภัทร เองก็คงภูมิใจกับความสำเร็จในครั้งนี้ของเขาอย่างมาก และมั่นใจว่า วรภัทร จะเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนไทยจำนวนมากต่อไป”

“วรภัทร” ถือเป็นหนึ่งในจำนวนเด็กนักเรียนเพียง 10 คนจากทั่วโลกที่ชนะเลิศรางวัลใหญ่ และได้ร่วมเดินทางเพื่อเข้าพิธีรับมอบรางวัล Grand Prize เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา

ข่าวโดย
กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com
19 กรกฎาคม 2551